“สพฐ.- เอ.พี. ฮอนด้า วิ่ง 31 ขาสามัคคี" ประโยชน์ล้นเหลือ สร้าง "เด็กประถม" เน้นกลมเกลียวและใจรัก มีชัยเหนือความเก่ง
“สพฐ.- เอ.พี. ฮอนด้า วิ่ง 31 ขาสามัคคี" กิจกรรมดีประโยชน์เหลือล้น พัฒนาเด็กประถม เน้นความกลมเกลียวและใจรัก มีชัยเหนือความเก่ง ด้าน "ครูชัยณรงค์ ยลถนอม" โค้ชผู้พาโรงเรียนอนุบาลทุ่งฝน จ.อุดรธานี คว้าแชมป์ประเทศไทย 2 สมัยติด แย้มเคล็ดสำคัญพร้อมขอบคุณฝ่ายจัดที่ช่วยมอบโอกาสเด็กประถมศึกษาได้แข่งขันกีฬาระดับประเทศ และภาคภูมิใจในถ้วยพระราชทานอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
การแข่งขัน “สพฐ.- เอ.พี. ฮอนด้า วิ่ง 31 ขาสามัคคี ปีที่ 11" ภายใต้แนวคิด “ก้าวสู่ทศวรรษที่ 2 กีฬาเยาวชน สร้างคน สร้างผู้นำ” จากการร่วมมือของ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าในประเทศไทย ได้ทีมชนะในรอบภูมิภาคแล้ว 3 ภาค เหลือเพียงสนามสุดท้าย ภาคกลาง วันที่ 16 มกราคม 2559 โดยทีมที่ทำเวลาได้ดีที่สุด 30 ทีมจากทั้ง 4 ภาค จะได้สิทธิ์เข้าแข่งขันรอบในรอบชิงแชมป์ประเทศไทย ลุ้นชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2559 ณ สนามกีฬาฟุตบอล 1 (การกีฬาแห่งประเทศไทย)
ทีมที่เป็นตัวเต็งคว้าแชมป์ประเทศไทยหนีไม่พ้น โรงเรียนอนุบาลทุ่งฝน จ.อุดรธานี สนับสนุนโดย บริษัท รุ่งเรืองอินเตอร์ (2008) จำกัด ดีกรีเจ้าของแชมป์เก่า 2 สมัยติด ปีที่ 9 และ 10 ซึ่งล่าสุดเพิ่งคว้าแชมป์ภาคอีสาน มาครองเป็นสมัยที่ 4 ด้วยเวลา 8.95 วินาที ท่ามกลางเสียงปรบมือกึกก้องจากคณะอาจารย์ ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้า จาก สปป.ลาว ที่ลัดฟ้ามาศึกษางานถึงถิ่น
นายชัยณรงค์ ยลถนอม ครูผู้ฝึกสอน โรงเรียนอนุบาลทุ่งฝน ผู้ที่ปลุกปั้นทีมมา 6 ปีเต็ม กล่าวถึงกิจกรรม “สพฐ.- เอ.พี. ฮอนด้า วิ่ง 31 ขาสามัคคี" ว่ามีประโยชน์เป็นอย่างมาก "หลังจากได้สัมผัสโดยตรงจากการส่งทีมเข้าแข่งขันมา 6 ปี ผมบอกได้เลยว่ากิจกรรมนี้ดีมาก เพราะช่วยส่งเสริมความสามัคคีให้แก่เด็ก รวมถึงฝึกความมีระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ และความเป็นผู้นำ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก มากกว่าผลการแข่งขันที่จะตามมา"
"ที่สำคัญต้องขอขอบคุณฮอนด้าที่จัดกิจกรรมดีๆแบบนี้ขึ้นมา เพราะที่ผ่านมาในระดับประถมศึกษานั้นไม่ค่อยมีการจัดแข่งขันกีฬาระดับประเทศมากนัก ยิ่งถ้วยพระราชทานฯยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย อย่างมากก็เป็นระดับอำเภอหรือระดับจังหวัด ไม่ค่อยมีรายการใหญ่ถึงระดับประเทศแบบนี้ จึงถือเป็นความภาคภูมิใจและเป็นเกียรติประวัติของเด็กนักเรียนและโรงเรียนทั่วประเทศที่จะได้สัมผัสกับถ้วยพระราชทานฯ"
พร้อมกันนี้ "ครูชัยณรงค์" ได้เผยถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จของกีฬาชนิดนี้ว่าไม่ได้เน้นที่คนเก่งแต่เน้นที่ความมีใจรักและสามัคคี "นักกีฬาของเราทุกคนมาด้วยความสมัครใจไม่มีการบังคับ ไม่ต้องคัดตัว ไม่จำเป็นต้องเป็นนักกีฬาประเภทอื่นที่มีความสามารถ หรือต้องเป็นเด็กผู้ชายที่แข็งแรงเพียงอย่างเดียว นักกีฬาเรามีทั้งชายและหญิง ปนกันทั้งตัวเล็กตัวใหญ่ บางคนร่างกายไม่แข็งแรง ไม่มีพื้นฐานการวิ่ง บางคนมีความพิการทางขาก็ยังมี แต่เมื่อทุกคนมีใจรักก็สามารถเรียนรู้ได้อย่างสนุกสนาน"
"อาศัยว่าค่อยๆเริ่มฝึกตั้งแต่ต้นปี เน้นความแข็งแรงของร่างกาย เน้นท่าทางการวิ่งที่ถูกต้องก่อน ไม่ต้องหักโหมเกินไป จากนั้นจึงพัฒนาสอนเทคนิคต่างๆให้เรื่อยๆ โดยระวังไม่ให้เด็กได้รับบาดเจ็บ ซึ่งจะเห็นได้ว่าปกติเด็กผู้หญิงจะวิ่งได้ไม่เร็วนัก แต่เมื่อมารวมกลุ่มผูกขาติดกันกลับสามารถวิ่งได้เร็วขึ้น ไปพร้อมคนที่เร็วกว่าได้ นั่นก็เพราะเราเน้นในเรื่องความสามัคคีและความพร้อมเพรียงเป็นหลัก โดยมีผู้นำวิ่ง 6-7คนอยู่ในกลุ่มที่สามารถประคองพาคนที่เหลือไปถึงเส้นชัยได้ และสิ่งเหล่านี้จะช่วยเป็นการช่วยพัฒนาเด็กในอนาคต ทุกคนจะรู้ว่าความสามัคคีนั้นมีพลังมากกว่าความเก่งของแค่คนใดคนหนึ่ง"
ด้าน นางสาวฉวีวรรณ สำคัญควร คุณแม่ของ "น้องปอนด์" ด.ญ.ภทรพรรณ พงษ์สะพัง หัวหน้าทีมโรงเรียนอนุบาลทุ่งฝน วัย 12 ปี เผยว่ากิจกรรมนี้เป็นประโยชน์ต่อลูกสาวที่กำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อย่างมาก "ดีใจมากที่ลูกวิ่งชนะ เพราะเขาตั้งใจฝึกฝนและเตรียมพร้อมมาอย่างเต็มที่ ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นประโยชน์มาก นอกจากจะช่วยเรื่องการออกกำลังกายแล้ว น้องปอนด์ยังกลายเป็นเด็กที่มีวินัยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และยังช่วยงานบ้านขยันขันแข็ง เชื่อว่าจะเป็นสิ่งสำคัญในการใช้ชีวิตและเรียนต่อในระดับมัธยม"
สำหรับกติกาและคุณสมบัตินักกีฬาที่เข้าร่วมแข่งขัน “สพฐ.- เอ.พี. ฮอนด้า วิ่ง 31 ขาสามัคคี" นั้น ในแต่ละทีมจะต้องประกอบไปด้วยนักกีฬาตัวจริง 30 คน นักกีฬาตัวสำรอง 4 คน และต้องมีผู้นำทีม (หัวหน้าทีมที่เป็นนักเรียน) 1 คน ครูผู้ควบคุมการฝึกซ้อม 1-3 คน ซึ่งนักกีฬาทั้งหมดจะต้องเป็นทีมนักเรียนที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนเดียวกันในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 อายุระหว่าง 10-12 ปี โดยในแต่ละทีมสามารถเป็นทีมชายล้วน หญิงล้วน หรือผสมชายหญิงก็ได้ เข้าแข่งขันจำนวน 30 คน ผูกขาติดกัน แล้ววิ่งเป็นระยะทาง 50 เมตร นักกีฬาแต่ละทีมสามารถวิ่งได้ 2 ครั้ง คณะกรรมการจะบันทึกเวลาครั้งที่ดีที่สุดของแต่ละทีม จากนั้นคัดเลือกทีมที่สามารถทำสถิติเวลาได้ดีที่สุดของแต่ละภาค ผ่านเข้าสู่การแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศระดับประเทศต่อไป โดยสามารถติดตามความเคลื่อนไหวการแข่งขันได้ที่ www.honda31legs.com และwww.facebook.com/honda31legs
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น