ฮอนด้า เดินหน้าโครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ ต่อเนื่อง 4 ปี หวังช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทย
กรุงเทพฯ, 21 ธันวาคม 2559: ฮอนด้าประกาศจัดทำโครงการวิจัย“เพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ โดยฮอนด้า” เพื่อศึกษาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุยานยนต์ในเอเชียและโอเชียเนีย ระหว่างปี 2559-2063นำร่องประเทศไทยเป็นแห่งแรก โดยผนึกกำลังศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย หรือ TARC ในการศึกษา 1,000 กรณีจากเหตุการณ์จริง คาดสามารถยกระดับและพัฒนาเทคโนโลยีความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ได้
โดยในงานแถลงข่าว ได้รับเกียรติจาก นายกอบชัย บุญอรณะ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย มร.โนริอากิ อาเบะ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการและหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ ประจําภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย, บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด, ประธานกรรมการบริหารและซีอีโอบริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด คุณอารักษ์ พรประภา รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี. ฮอนด้า จำกัด รศ.ดร. กัณวีร์กริษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย และ นพ.แท้จริง ศิริพาณิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ร่วมงานแถลงข่าว
จากการที่ฮอนด้าซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยานยนต์ มีสินค้าหลากหลายตอบสนองการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนจำนวนมาก ฮอนด้าได้เล็งเห็นความปลอดภัยเป็นมาตรฐานสูงสุด จึงมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนทุกภาคส่วน อาทิ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน ตลอดจนผู้ใช้ถนนทั่วไป ดังสโลแกนฮอนด้าทั่วโลก “Safety for Everyone” ภายใต้คำมั่นนี้ ฮอนด้าจึงมุ่งที่จะลดปัญหาความสูญเสียอันเกิดจากอุบัติเหตุจากการจราจร เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนขับรถได้อย่างเสรีและมีความปลอดภัย
ทั้งนี้พบว่าบางภูมิภาคในโลกยังมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุที่สูงมาก โดยเฉพาะในทวีปเอเชีย อันเป็นที่มาของโครงการวิจัยเชิงลึกหาสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุยานยนต์ในเอเชียและโอเชียเนียครั้งนี้ ซึ่งจะเริ่มนำร่องที่ประเทศไทยเป็นแห่งแรก ด้วยเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุสูงที่สุดในเอเชีย (อ้างอิงจาก Global Status Report on Road Safety 2015 โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) )
มร.อาเบะ กล่าวว่า "ฮอนด้ามีความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์สังคมปลอดอุบัติเหตุ" เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนมีความสุขจากการใช้ยานยนต์ ทั้งนี้อัตราการเกิดอุบัติเหตุในภูมิภาคเอเชียถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขโดยเร็ว โดยในส่วนของผู้ผลิตและจำหน่ายยานยนต์ ฮอนด้าจะทำการศึกษาวิเคราะห์เพื่อค้นหาปัจจัยต้นเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเพื่อนำไปสู่การการแก้ปัญหาอย่างตรงจุดและเหมาะสมต่อไป เราเชื่อมั่นว่าโครงการวิจัยอุบัติเหตุในประเทศไทยครั้งนี้ จะเป็นโครงการนำร่องที่สามารถเพิ่มพูนองค์ความรู้ต่างๆ ในการพัฒนาเทคโนโลยีและความรู้ด้านความปลอดภัยบนท้องถนน รวมทั้งช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุในประเทศไทยและภูมิภาคได้อย่างแน่นอน”
สำหรับโครงการวิจัยฯ ดังกล่าวจะทำการศึกษาเป็นระยะเวลา 4 ปี โดยจะศึกษาจังหวัดที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุสูง เช่น กรุงเทพฯ,เชียงใหม่, นครราชสีมา และสงขลา โดยจะทำการศึกษาจากเหตุการณ์จริงจำนวน 1,000 กรณี ในระหว่าง พ.ศ. 2559-2563
สำหรับกระบวนการศึกษานั้น ฮอนด้าจะร่วมกับศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย หรือ TARC ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการเก็บข้อมูลอุบัติเหตุ โดยจะส่งทีม TARC ลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลตามกรอบการศึกษาและระเบียบวิธีวิจัย จากนั้นจะวิเคราะห์ข้อมูลและส่งรายงานให้ฮอนด้าเพื่อวิเคราะห์และนำไปปรับใช้ในงานวิจัยและพัฒนาของตนในขั้นต่อไป โดยคาดว่าผลการศึกษาชิ้นแรกจะเสร็จสิ้นภายในสิ้นปี 2560
ขั้นตอนการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเริ่มจากทีม TARC จะแบ่งทีมลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลเมื่อเกิดอุบัติเหตุ โดยจะเก็บข้อมูลครอบคลุมหลายด้าน อาทิ ระดับอาการบาดเจ็บของผู้ประสบอุบัติเหตุ ระดับความเสียหายของยานยนต์ ลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ที่เกิดอุบัติเหตุสัมภาษณ์ผู้เห็นเหตุการณ์ และตรวจสอบเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิดซึ่งทีม TARC จะทำการบันทึก เก็บรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดที่ได้มา และสรุปปัจจัยสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ เพื่อส่งรายงานให้กับฮอนด้าเพื่อการวิเคราะห์ในขั้นต่อไป
ทั้งนี้ ฮอนด้าและทีม TARC ได้ดำเนินโครงการนำร่องโดยศึกษาอุบัติเหตุจริง 30 กรณีมาเมื่อต้นปี 2559 และโครงการศึกษาในครั้งนี้ เป็นการขยายจำนวนและพื้นที่การวิจัยให้กว้างมากขึ้นต่อยอดจากโครงการนำร่องดังกล่าว
ฮอนด้าคาดว่าข้อค้นพบจากการศึกษาในครั้งนี้ จะนำไปสู่การปฎิบัติเพื่อลดอุบัติเหตุจากการจราจร ครอบคลุมการพัฒนาเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพสำหรับยานยนต์ฮอนด้าในท้องตลาดอีกทั้งช่วยปรับปรุงเนื้อหาการฝึกอบรมการขับขี่ยานยนต์ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ฮอนด้าหวังว่าโครงการวิจัยอุบัติเหตุนี้จะนำประโยชนมาสู่สังคมและสร้างจิตสำนึกการขับขี่อย่างปลอดภัยลดอุบัติเหตุได้จริงต่อไปในอนาคต
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น