กสอ. ชี้ญี่ปุ่นหนุนผู้ประกอบการลงทุนเอเชีย รุกคว้าจังหวัดมิเอะต่อยอดอุตสาหกรรมชั้นสูง เสริมอุตฯไทย

กรุงเทพฯ 19 พฤศจิกายน 2558 – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม                   เผยประเทศญี่ปุ่นมีมาตรการจูงใจให้มีการลงทุนในพื้นที่ซึ่งภาครัฐจะมีการให้การสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น  การสนับสนุนสำหรับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพหรือสนับสนุนบริษัทต่างชาติที่จะขยายการลงทุนสู่เอเชีย ทั้งนี้ กสอ. ได้เดินหน้าลงนามบันทึกความร่วมมือกับจังหวัดมิเอะ (MIE) เพื่อนำไทยสู่อุตสาหกรรมขั้นสูงโดยประโยชน์ ที่ได้รับไม่เพียงช่วยให้ประเทศไทยได้รับองค์ความรู้ในการบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ยังส่งผลให้ผู้ประกอบการประเทศญี่ปุ่นขยายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทยและเกิดการจ้างงานในประเทศมากขึ้น 

ดร. อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้วางเป้าหมายในการยกระดับอุตสาหกรรม SMEsของไทย ให้ก้าวสู่การเป็นฐานการผลิตของเทคโนโลยีขั้นสูง กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจึงร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่นของประเทศญี่ปุ่นเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน พึ่งพาซึ่งกันและกันในการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยได้ลงนามความร่วมมือกับจังหวัดมิเอะ(MIE) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นรัฐบาลท้องถิ่นลำดับที่ 13 และหน่วยงานประเทศญี่ปุ่นลำดับที่ 16 ที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีการลงนามความร่วมมือด้วย ซึ่งมีความแตกต่างจากครั้งก่อน ๆ ในแง่ที่จังหวัดมิเอะนั้น มีความโดดเด่นด้านอุตสาหกรรมชั้นสูง ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เทคโนโลยีการผลิต และวัสดุชั้นสูง อีกทั้งยังมีการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ เช่น ยานยนต์ ผลึกเหลว (Liquid Crystal) เป็นต้น ซึ่งเป็นโอกาสดีที่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมของไทย จะได้เรียนรู้นวัตกรรมชั้นสูงจากญี่ปุ่นเพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศต่อไป โดยการลงนามบันทึกความร่วมมือดังกล่าว ดำเนินการภายใต้กรอบความร่วมมือในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลแนวคิดและความร่วมมือในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกัน อาทิ การจัดโครงการแลกเปลี่ยนด้านอุตสาหกรรม การส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันเมื่อเกิดภัยพิบัติ ภายใต้แนวคิด OtagaiBusiness Concept” การจัดสัมมนา การจัดนิทรรศการ และการจัดประชุมทางธุรกิจร่วมกัน เป็นต้น 

ดร.อรรชกา กล่าวถึง ความพิเศษในการร่วมมือกับจังหวัดมิเอะครั้งนี้ว่า ไม่เพียงช่วยให้ผู้ประกอบการไทย ให้ได้รับองค์ความรู้ในการบริหารธุรกิจและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ยังส่งผลให้ผู้ประกอบการของญี่ปุ่นขยายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศไทยและเกิดการจ้างงานในประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกันเป็นการสร้างโอกาสให้นักลงทุน ในภาคอุตสาหกรรมของไทยได้ขยายการลงทุนเนื่องจากจังหวัดมิเอะมีมาตรการจูงใจให้มีการลงทุนในพื้นที่ซึ่งภาครัฐ จะมีการให้การสนับสนุนในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนสำหรับอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ หรือสนับสนุนบริษัทต่างชาติที่จะขยายการลงทุนสู่เอเชีย อย่างไรก็ตาม มีบริษัทของจังหวัดมิเอะลงทุนในประเทศไทยถึง 20 บริษัท ในหลายอุตสาหกรรม ทั้งอาหารแปรรูป เกษตรกรรม ชิ้นส่วนยานยนต์ และเหล็กแม่พิมพ์ และแปรรูปอาหาร เป็นต้นซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทชั้นนำ อาทิ OkitsumoInternational (Asia) Co.,Ltd , Bestex (Thailand)Co.,Ltd,  Yasunaga (Thailand) Co., Ltd เป็นต้น

ด้าน ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดมิเอะเป็นจังหวัด ที่อยู่ริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกและเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างเมืองโอซาก้า และเมืองนาโกย่า จึงมีนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานที่เป็นฐานการผลิตและการขนส่งที่สำคัญแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น มีสัดส่วนธุรกิจในภาคการผลิตมากถึง ร้อยละ 31.5 ของประเภทธุรกิจในจังหวัดมิเอะ รองลงมาก็คือภาคบริการ และอสังหาริมทรัพย์ ร้อยละ 15.6 และ 11.2 ตามลำดับ นอกจากนี้ จังหวัดมิเอะได้มีการจัดตั้งศูนย์ Advanced Materials Innovation Center: AMIC ซึ่งเป็นศูนย์เพื่อการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะ SMEs และพัฒนา วัสดุชั้นสูง (Advanced Materials) และเซลล์เชื้อเพลิง โดยมีความร่วมมือกับนักวิจัยจากประเทศเยอรมันและฝรั่งเศส อีกทั้งจังหวัดมิเอะยังเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Greater Nagoya Initiative (GNI) ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นที่มีเมืองนาโกย่า (Nagoya) เป็นจุดศูนย์กลาง ซึ่งมีเป้าหมายในการส่งเสริมอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจ รวมถึงดึงดูดการลงทุน เทคโนโลยี และทรัพยากรบุคคลให้เข้ามาในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้มีโต๊ะญี่ปุ่นซึ่งทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง                ของการดำเนินงานด้านการลงทุนในการส่งเสริมและพัฒนา SMEsให้มีศักยภาพมากขึ้น โดยเป็นความร่วมมือ          ระหว่างรัฐกับรัฐ  ซึ่งได้มีความร่วมมือกับเมือง/จังหวัดต่าง ๆ ของญี่ปุ่น ได้แก่ จังหวัดไซตามะ จังหวัดยามานาชิ จังหวัดอาคิตะ จังหวัดโทโทริ จังหวัดชิมาเน่ จังหวัดไอจิ เมืองคาวาซากิ จังหวัดฟุกุอิ จังหวัดโทยาม่า เมืองมินะมิโบโซ จังหวัดฟุกุโอกะจังหวัดชิบะ อย่างไรก็ตาม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจะยังคงเน้นในการขยายความร่วมมือไปยัง จังหวัดและเมืองอุตสาหกรรมที่สำคัญของญี่ปุ่นต่อไป แต่จะเน้นในเมืองที่มีจุดเด่นในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น สำหรับพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจดังกล่าวนั้น มี ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ให้เกียรติเป็นประธานและสักขีพยาน ระหว่าง ดร.สมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กับ นายเอเคอิ ซูซูกิ (Mr. EikeiSuzuki) ผู้ว่าราชการจังหวัดมิเอะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งลงนามในวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน 2558 ณ ห้องประชุมชุณหะวัณ ชั้น 3 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีผู้บริหารและข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรม และนักธุรกิจญี่ปุ่น ร่วมงานเป็นจำนวนมาก ดร.สมชาย กล่าว

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับศูนย์ธุรกิจอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) สามารถสอบถามได้ที่ โทร. 0 2202 4426-7 และสามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการต่าง ๆ                    ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ที่ โทร. 0 2202 4414-18หรือเว็บไซต์ www.dip.go.th หรือwww.facebook.com/dip.pr

###





ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

นิชคาร์กรุ๊ป รวมพลลูกค้าซุปเปอร์คาร์หรู จัดงานเลี้ยงปีใหม่ชื่นมื่น

ซูซูกิ เปิดโชว์รูม Big Bike Central Bangkok ย่านพระราม 3 อย่างยิ่งใหญ่

พิธีเปิดบริษัท เท็น ฮอนด้า ออโตโมบิล จำกัด กล้วยน้ำไท โดยมีคุณกร ทัพพะรังสี ร่วมงาน